เคลื่อนตัวอย่างไรดี นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการทำให้เกิดแรงด้วยการใช้ร่างกาย ดึง ผลัก โยน ปา หรือใช้อุปกรณ์เล่นกับแรงเพื่อให้วัตถุเคลื่อนที่ได้ โดยนำลูกบอลจากนิทานเป็นสื่อให้นักเรียนเล่น ทดลอง และใช้แรงด้วยวิธีการต่าง ๆ  ทำให้ลูกบอลเคลื่อนที่และเรียนรู้เรื่องแรง

เล่นกับลูกโป่ง ลูกโป่งสวรรค์ ลอยไปก็ลอยมา ลูกโป่งนางฟ้า หรือลูกโป่งเทวดา…เป็นเสียงเพลงที่นักเรียนหลายคนคุ้นเคย วันนี้ครูจึงนำลูกโป่งมาให้นักเรียนดู ชวนนักเรียนเล่นสนุกกับลูกโป่งด้วยวิธีการต่าง ๆ  โดยนำมาเล่นเคลื่อนไหวประกอบการเพลง เล่นเกมตีลูกโป่ง ใช้เป็นอุปกรณ์ในการทำศิลปะทั้งการพิมพ์ กลิ้ง วาดสีเพื่อสร้างผลงานจากลูกโป่ง

เล่นสนุกกับลูกบอล กิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ทักษะทางร่างกายในการใช้ลูกบอลทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้การเคลื่อนไหว และการทรงตัวโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การปาลูกบอล การส่งลูกบอล การเตะบอล นอกจากนี้ยังได้ทำกิจกรรมการใช้ความแข็งแรง และการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กจากลูกบอล จากการพิมพ์ลูกบอลเป็นภาพต่าง ๆ

เล่น ลูกโป่ง น้ำถ้าถามนักเรียนอนุบาลว่าอยากเล่นกับลูกโป่งหรือไม่ หลายคนต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากเล่น  ด้วยสีสัน รูปร่างลักษณะ และการยืดขยายของลูกโป่งทำให้นักเรียนสงสัยอยากเล่นอยากลองเป่า  แต่การให้นักเรียนเล่นกับลูกโป่งอาจเกิดอันตรายจึงควรอยู่ในการดูแลของผู้ใหญ่  ครูจัดกิจกรรมการเล่นกับลูกโป่งให้นักเรียนได้เพลิดเพลิน  ได้แก่ การเพ้นท์ลายบนลูกโป่งใบใหญ่ด้วยปากกาเมจิกตามจินตนาการ  การพิมพ์ภาพด้วยลูกโป่งใส่น้ำที่มีลักษณะนุ่มนิ่มเด้งได้  การเล่นเกมกระโดดตีลูกโป่งให้เกิดเสียงดัง การปล่อยลมออกจากลูกโป่งให้เกิดเสียง  การประดิษฐ์กลองด้วยการขึงลูกโป่งให้ตึงเป็นหน้ากลองตกแต่งกลองให้สวยงาม  ประดิษฐ์กลองเสร็จนักเรียนได้นำกลองไปตีตามจังหวะดนตรีเพื่อให้เกิดความเพลิดเพลิน

วาดเส้นเล่นกับน้ำแข็ง น้ำเป็นของเหลวที่มีความมหัศจรรย์สำหรับนักเรียนวัย 3 ขวบ นักเรียนวัยนี้ชอบเล่นสนุกกับน้ำ ยิ่งถ้าเป็นน้ำแข็งด้วยแล้วทั้งอยากจับเล่น หรือลองชิม เพราะความเย็นทำให้ตื่นเต้นตื่นตัว การเล่นกับน้ำแข็งสามารถเล่นให้เกิดการเรียนรู้ได้ ด้วยการให้เล่นแบบทดลอง  ครูเตรียมอุปกรณ์ในแต่ละฐานให้นักเรียนเล่นและเข้าใจปัจจัยที่ทำให้น้ำแข็งละลาย  กิจกรรมการทดลองประกอบด้วย การฉีดพ่นน้ำจากขวดสเปรย์ให้โดนก้อนน้ำแข็ง  การใช้พัดลมมือถือเป่าไปที่ก้อนน้ำแข็ง  การใช้น้ำแข็งก้อนสีต่างๆวาดลงบนกระดาษ  การบดน้ำแข็งให้ละเอียดทำน้ำแข็งกดราดด้วยน้ำหวานและชิมรสชาติ   ขณะทำกิจกรรมครูชักชวนให้นักเรียนสังเกตการเปลี่ยนแปลงของน้ำแข็ง และสนทนาสรุปกิจกรรมร่วมกับนักเรียนเพื่อเชื่อมโยงความรู้จากการเล่นทดลองในกิจกรรมทุกฐาน

รถของเล่น นักเรียนฟังนิทานเรื่อง ล้อกลมผจญภัย ผู้แต่ง พิมพ์วรรณ หล้าวงษา แล้วมาเรียนรู้กิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับล้อกลมกลมหมุนและเคลื่อนที่ได้   กิจกรรมแข่งรถเป็นกิจกรรมที่นักเรียนจะต้องทำงานร่วมกับเพื่อนเป็นกลุ่ม  โดยนักเรียนทดลองเล่นกับรถคันเล็กเพื่อทดลองวิธีทำให้รถวิ่งไปให้ไกล ซึ่งเป็นความรู้เรื่องของแรงและ    การเคลื่อนที่ ครูกำหนดปัญหาให้นักเรียนประดิษฐ์รถที่รถสามารถวิ่งได้ไกล ถึงเส้นชัยได้เร็ว จากเศษวัสดุและสร้างลู่แข่งรถที่สามารถนำรถที่ประดิษฐ์แล้วไปวิ่งได้จริง โดยใช้อุปกรณ์ที่มีได้แก่ บล็อกไม้ บล็อกโฟม พลาสติกสร้างสรรค์ นักเรียนต้องคิดวิเคราะห์คุณลักษณะของวัสดุอุปกรณ์ที่ครูเตรียมให้เพื่อประดิษฐ์รถและสร้างลู่ให้รถวิ่ง แล้วจึงออกแบบ ลงมือประดิษฐ์ ทดลองนำรถคันเล็กไปวิ่งในลู่ที่ทำเสร็จแล้ว ตามเงื่อนไขที่ครูกำหนดถ้าพบปัญหาต้องปรับแก้ไขและทดลองจนสำเร็จ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นการประดิษฐ์ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการวิศวกรรม ได้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับวัย

ออกแรง ออกกำลัง แรงในทักษะวิทยาศาสตร์มีด้วยกันหลายรูปแบบ ซึ่งในชีวิตประจำวันเด็กสามารถพบเจอ และใช้แรงในรูปแบบต่าง ๆ ได้ ในกิจกรรมนี้ครูจัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องแรง ผ่านกิจกรรมที่ท้าทายตัวเด็กเอง โดยครูจัดกิจกรรมเป็นฐานต่าง ๆ ได้แก่ ดึงรถลากเก็บลูกบอล ดันไปให้ถึงฝั่ง ผลักบอลให้โดนของ ตีข้ามฝั่ง

ท้องฟ้าจำลอง นักเรียนที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ หลายคนไม่เคยเห็นดวงดาว แต่ในการเรียนรู้ครั้งนี้นักเรียนจะได้รู้จักดวงดาวต่าง ๆ ผ่านห้องดูดาวที่ครูจัดเตรียมขึ้น นักเรียนจะได้ฝึกจินตนาการผ่านการวาดภาพ และยังได้สร้างดวงดาวด้วยตนเองผ่านการเจาะรูบนกระดาษเป็นดาวที่ตนเองสนใจ จากนั้นนำมาส่องแสงในที่มืด สะท้อนกลุ่มดาวของตนในห้องมืดให้เพื่อน ๆ ร่วมทายชื่อดาวนั้น ๆ

Solar Walk 3D โลกและดวงดาว      อาจเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับนักเรียน และจัดทำสื่อที่จะช่วยทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจได้ยาก แต่การใช้ internet ในการสืบค้นข้อมูลและโปรแกรม Solar Walk จะช่วยให้นักเรียนเห็นรูปร่างลักษณะของโลกและดวงดาวต่าง ๆรวมทั้งการโคจรของดวงดาวได้อย่างชัดเจนและทำให้นักเรียนเกิดความเข้าใจมากขึ้น

อยู่ตรงไหนนะ ทิศทางและตำแหน่ง เป็นทักษะคณิตศาสตร์ที่นักเรียนจำเป็นต้องเชื่อมโยงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นกิจกรรม อยู่ตรงไหนนะ จึงเป็นการจัดกิจกรรมในรูปแบบเกมการเดินทางที่มีเงื่อนไขให้นักเรียนตามหาสิ่งของที่หายไป โดยนักเรียนที่เป็นผู้ซ่อนสิ่งของต้องเป็นสร้างแผนที่การเดินทางมายังจุดซ่อนสิ่งของให้เพื่อนกลุ่มอื่นเดินทางตามหา การสร้างแผนที่และการเดินทางตามแผนที่นั้นนักเรียนต้องสามารถบอกตำแหน่งของสถานที่ต่าง ๆภายในโรงเรียนและบอกทิศทางที่ระบุในแผนที่ได้ถูกต้องจึงจะสามารถเดินทางไปถึงเป้าหมายได้ ความท้าทายของกิจกรรมนี้ยังส่งผลให้นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมมากขึ้นด้วย

ขนมครกน่าแคะ กิจกรรม ขนมครกน่าแคะ เป็นกิจกรรมที่รวมเรื่องราวของขนมไทยแสนอร่อยและนิทานเรื่องโปรดของนักเรียนหลายคนที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับวิธีการทำขนมครก โดยนักเรียนจะได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเรียนรู้วิธีการทำขนมครกและชิมรสชาติขนมครกที่ตนเองทำภายใต้การแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิดจากวิทยากรที่มีความสามารถทางด้านการทำขนมไทย นอกจากนี้นักเรียนยังได้รู้จักส่วนผสมสำคัญและปริมาณของส่วนผสมที่ทำให้ขนมครกมีหน้าตาและรสชาติที่แตกต่างกัน

Puppet Dance

                “หุ่น” เป็นสื่อการเรียนรู้ชนิดหนึ่งที่นักเรียนสามารถทำได้ด้วยตนเองการประดิษฐ์หุ่นหนึ่งตัวนักเรียนได้ใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในการวัดคำนวณ และคาดคะเนสัดส่วนเพื่อความสมดุลของตัวหุ่นที่จะใช้ในการเชิด หุ่นทุกตัวจะสวยงามได้จากการตกแต่งด้วยฝีมือทางศิลปะของนักเรียน ส่วนขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้วิธีเชิดหุ่น เมื่อเชิดเสร็จแล้วครูเปิดโอกาสให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่าจะเชิดหุ่นประกอบนิทาน หรือเชิดประกอบเพลง

นิทานจากแทนแกรม

                เรขาคณิตคืออะไร ใครรู้จักบ้าง นี่คือจุดเริ่มต้นของกิจกรรมแทนแกรม ครูอธิบายแนะนำให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับคำว่า “แทนแกรม” และเปิดโอกาสให้นักเรียนฝึกเล่นเกม “แทนแกรม” แบบอิสระ และตามเงื่อนไขที่กำหนด หลังจากฝึกเล่นจนคล่อง กิจกรรมต่อไปคือการต่อ “แทนแกรม” และนำภาพนั้นมาแต่งเป็นนิทานเพื่อนำเสนอเรื่องราวของนิทานที่แต่งจากแทนแกรม ให้ผู้อื่นฟัง