สนุกกับดิน เมื่อดินเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ตามสถานที่ทั่วไปครูจึงพานักเรียนออกไปสำรวจดินในโรงเรียน เพื่อสังเกตลักษณะของดิน ครูพูดคุยเกี่ยวกับคุณสมบัติของดินบางชนิดที่สามารถนำมาปั้นให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้ โดยการเล่านิทานเรื่อง ชายซักผ้ากับช่างปั้นหม้อ พร้อมนำดินหลากหลายแบบ เช่น ดินเหนียว ดินน้ำมัน ดินญี่ปุ่น มาให้นักเรียนเรียนรู้โดยใช้ประสาทสัมผัสด้วยการสังเกต เปรียบเทียบความเหมือน ความต่างของสี กลิ่น ผิวสัมผัส และลงมือปั้นดินให้มีรูปร่างต่าง ๆ เป็นกลุ่มตามจินตนาการ

ตลาดผลไม้ ฉันชอบกินผลไม้ เพราะผลไม้มีประโยชน์..เป็นสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จากการฟังนิทาน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีร่างกายแข็งแรงครูจึงชวนมาเล่นเกม “เก็บผลไม้ใส่ตะกร้า” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ฝึกการทรงตัวจากการเดิน วิ่ง ขณะทำกิจกรรม และพูดคุยเกี่ยวกับชื่อ ลักษณะของผลไม้ชนิดต่าง ๆ ที่นักเรียนเก็บใส่ตะกร้า และสร้างสถานการณ์จำลองเป็นร้านขายผลไม้ และให้นักเรียนเลือกซื้อผลไม้ ตามเงื่อนไขโดยครูแจกบัตรภาพให้นักเรียนคนละ 3 ภาพ จากนั้นให้สังเกตและเลือกซื้อผลไม้ใส่ตะกร้าตามบัตรภาพของตนเอง

ตุ๊กตาล้มลุก กิจกรรมจัดขึ้นเพื่อให้เด็กเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของไข่ ในแง่ที่เป็นอาหารจากการต้มไข่ และนำไข่ที่ต้มนั้นมาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ตุ๊กตาไข่ล้มลุก ที่มีการทำกิจกรรมเป็นลำดับขั้นตอน แต่ละขั้นตอนนักเรียนได้ฝึกทักษะการสังเกต อันเกิดจากการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ จากการประดิษฐ์ตุ๊กตาไข่ล้มลุก และเรียนรู้ทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จากการทดลองเล่นตุ๊กตาไข่ล้มลุก

 ขนมปัง ปัง นิทานบางเรื่องสอนเนื้อหาความรู้ หรือข้อคิดเชิงคุณธรรม แต่นิทานบางเรื่องมีคุณค่ามากกว่านั้นขึ้นอยู่กับการนำประเด็นในนิทานมาบูรณาการกับกิจกรรมที่นักเรียนสนใจเช่น ศิลปะประดิษฐ์ยังทำให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้ใช้จินตนาการ  กิจรรม ขนมปัง ปัง ก็เช่นเดียวกัน เด็กได้พัฒนาทักษะการฟัง ได้สนทนาเกี่ยวกับสาระความรู้เรื่องของความรักความเสียสละระหว่างพี่น้อง ความกตัญญูต่อพ่อแม่ และเรียนรู้การแก้ปัญหา ครูยังชวนนักเรียนประดิษฐ์บ้านขนมปังจากวัสดุต่างๆ  ประดิษฐ์พวงกุญแจที่มีรูปร่างเหมือนขนมปัง  และทำกิจกรรมประกอบอาหารง่ายๆทำ “ปังช็อคกี้” ในขั้นตอนการทำอาหารนักเรียนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสารจากการแข็งตัวของช็อคโกแลต

 ของเล่นจากก้อนหิน เด็กไทยสมัยก่อนส่วนใหญ่มักนำสิ่งของจากธรรมชาติมาใช้เป็นของเล่น เห็นได้จากการละเล่นเด็กไทย ซึ่งในครั้งนี้นักเรียนจะได้เล่นการละเล่นเด็กไทยที่ใช้ก้อนหินเป็นส่วนประกอบในการเล่น เช่น หมากเก็บ      กาฝักไข่ ตั้งเต ฯลฯ จากนั้นนักเรียนจะได้ฝึกคิดออกแบบเกมที่ใช้ก้อนหินเป็นส่วนประกอบการเล่น และลงมือเล่นตามเกมที่ได้ออกแบบไว้

 จิ๊กซอใบหน้า จิ๊กซอ หรือ ภาพตัดต่อเป็นหนึ่งเกมการศึกษาที่นักเรียนได้เล่นเป็นประจำในห้องเรียน ที่ช่วยฝึกสมาธิ การวิเคราะห์ การเปรียบเทียบ การแก้ปัญหา และการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา แต่ในกิจกรรมคอมพิวเตอร์ “จิ๊กซอใบหน้าหนู” นักเรียนจะได้ออกแบบจิ๊กซอใบหน้าตนเอง ผ่านการถ่ายภาพหน้าของตนเองจากนั้นทำเป็น จิ๊กซอ ของตนเอง

สร้างสรรค์งานสาน งานสานสำหรับนักเรียนระดับปฐมวัยเป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่นักเรียนจะได้ฝึกให้นักเรียนมีความจดจ่อกับงานที่ทำ การประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตาซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเขียน รวมทั้งมีความเข้าใจเรื่องแบบรูป ซึ่งเป็นทักษะทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับการแสดงความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆเพื่อแสดงให้เห็นรูปแบบของการจัดวาง สิ่งของอย่างต่อเนื่อง การที่นักเรียนจะสร้างผลงานสานได้นั้นต้องเรียนรู้เรื่องแบบรูปอย่างง่าย เช่น 1:1 , 2:2 และ 1:2 จากการเล่นเกมการวางสิ่งของตามแบบ จากนั้นนำความเข้าใจดังกล่าวมากำหนดรูปแบบในการสานริบบิ้นกับสิ่งของที่มีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กจนเกิดเป็นลวดลายที่หลากหลายและเป็นชิ้นงานที่มีความสวยงามและสามารถนำชิ้นงานนั้นไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

 Walk rally ที่นี่ละอออุทิศ การออกสำรวจพื้นที่ต่างๆในบริเวณตามโจทย์ที่ครูกำหนดให้คือภารกิจสำคัญของนักเรียน เมื่อพบสถานที่ดังกล่าวแล้วครูนักเรียนจะต้องเป็นผู้บันทึกข้อมูลโดยการใช้ ipad เพื่อเป็นหลักฐานในการนำเสนอ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนในชั้นเรียน นับเป็นกิจกรรมที่ผสมผสานการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีจากการออกค้นหาข้อมูลสถานที่ที่ครูกำหนดและใช้เครื่องมือการเรียนรู้ ipad ประกอบการค้นเและนำเสนอผลงาน

 เรือบรรทุกน้ำ การเรียนรู้จากโจทย์ปัญหาที่ครูกำหนด Problem Base leaning คือหัวใจสำคัญที่นักเรียนต้องใช้ทักษะการคิดแก้ปัญหาในกิจกรรมนักเรียนต้องสมมติตนเองเป็นวิศวกรเพื่อสร้างเรือบรรทุกน้ำไม่ต่ำกว่า 800 มิลลิเมตร ภายใต้เงื่อนไขที่ครูกำหนดให้ การทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน และฝึกการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น