จากการที่ประชาชนใน ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี จำนวน 9 หมู่บ้าน รวมจำนวนคน 3,598 คน  ในพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร มีปัญหาทางด้านสุขภาพ จากการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)  เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้นเลือด โรคอ้วนรวมถึงโรคอื่น ๆ ที่มากับการประกอบอาชีพ เช่น โรคปวดในข้อ ปวดหลัง ปวดเข่า ปวดบ่าคอไหล่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจำนวน 509 คน เกือบครึ่งที่ป่วยเป็นโรคเหล่านี้ นอกจากนี้ในสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเป็นที่ทราบกันดีหากเป็นโรคในกลุ่มนี้ได้รับเชื้อเป็นเหตุถึงกับเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว  ศูนย์ขับเคลื่อนนวัตกรรม คณะวิทยาการจัดการ ได้รับการขอความอนุเคราะห์ให้เข้าบริการวิชาการและสร้างนวัตกรรม เพื่อที่ประชาชนในอำเภอพนมทวนจะได้นำสิ่งที่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรม และฝึกให้ อสม.เป็นนวัตกรสุขภาพ ทีมงานศูนย์ขับเคลื่อนนวัตกรรม คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นำโดย แพทย์แผนไทย ดร.อมรรัตน์ เรืองสกุล ประธานศูนย์ขับเคลื่อนนวัตกรรม คณะวิทยาการจัดการ จึงจัดอบรมปฏิบัติการ  การสร้างนวัตกรสื่อสารสุขภาวะต้านโรคให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ในวันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2564  ระหว่างเวลา 13.00 – 16.40 น.ผ่านระบบ Zoom Application  วิทยากรจาก ศูนย์ขับเคลื่อนนวัตกรรม คณะวิทยาการจัดการ และอาจารย์ประจำหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์นวัตกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในหัวข้อการอบรมปฏิบัติการ การสร้างคอนเทนต์บน TikTok ให้เป็นไวรัลคลิปดังด้านสุขภาพ และเมื่อสุขภาพต้องการบำบัด แบบสร้างภาพจำจากการเล่าเรื่องด้วยงานเพลง  วิทยากร แพทย์แผนไทย ดร.อมรรัตน์ เรืองสกุล  เทคนิคการสร้างสรรค์งานผ่านสื่อ youtube และการตัดต่อวิดีโอแบบง่ายด้วยโปรแกรม kineMaste จากโทรศัพท์มือถือ  วิทยากร  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูชิตต์ ภูริปาณิก  และการลง facebook ให้ปังด้วยเทคนิคง่าย ๆ พร้อมเรียกยอดไลก์รัว ๆ และการสร้างเพจ facebook เครือข่ายสุขภาพ  วิทยากร อาจารย์ชุษณะ จันทร์อ่อน โดยมี นายศิวโรฒ  จิตนิยม  ประธานสถาบันการเงินในชุมชน และอสม.ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี นำ อสม.เข้ารับการอบรมปฏิบัติการด้วยมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการที่จะเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ได้