ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ ม.สวนดุสิต อบรมหลักสูตรพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้มีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ(ระยะที่ 100) ผ่านระบบ Online (ZOOM)  โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดูสิต เป็นประธานเปิดและบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ “ครูในศตวรรษที่ 21”    โดยสรุปความสำคัญได้ดังต่อไปนี้

– ปัจจุบันเราเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 การเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การคิดจึงต้องคิดไปสู่อนาคต การคิดแบบเดิม ๆ นั้นไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และสายเกินไป  ที่ผ่านมาการเรียนประวัติศาสตร์ เป็นการเรียนรู้เรื่องอดีต คิดในอดีต โดยไม่ได้หวังว่าจะนำมาใช้ ต่อมาในระยะหลัง เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้ามากขึ้น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์จึงเป็นพื้นฐานในการคิดเพื่ออนาคต เมื่อมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคล้ายในอดีต ก็จะทำให้ช่วยเข้าใจสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้

– แต่หากใช้การคิดแบบในอดีตจะช้าเกินไป ต้องคิดเหนืออนาคตจึงจะทันต่อเหตุการณ์ เพราะสิ่งที่ครูคิดนั้นอยู่ในศตวรรษที่ 20 แต่ผู้เรียนต้องไปอยู่ในศตวรรษที่ 21 ครูจึงต้องคิดให้ไกลกว่านั้น เตรียมตัวเอง และถ่ายทอดเพื่อให้ผู้เรียนอยู่รอดได้ โดยทักษะการอยู่รอดเป็นทักษะสำคัญของเด็กในอนาคต

–  สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงใช้คำว่า “Change” แต่ปัจจุบันใช้คำว่า “Disruption” เป็นการเปลี่ยนแบบทันทีทันใด เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบแทนที่ ที่สำคัญโควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งให้การเปลี่ยนแปลงเร็วยิ่งขึ้น 

– ที่ผ่านมาเราใช้ Smart Technology เป็นเทคโนโลยีที่ฉลาด แต่ก็ยังมีความเกี่ยวพันกับมนุษย์ ปัจจุบันเราใช้ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถทำแทนมนุษย์ได้เลย ส่งผลให้การศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องมีครูยืนสอน ผู้เรียนสามารถเรียนจากเครื่องมือเทคโนโลยีแทนได้ ครูจึงต้องคิดใหม่ว่าจะทำอย่างไร ต้องกระตือรือร้น พัฒนา และเปลี่ยนแปลงตัวเองมากกว่าเดิมมาก (มากเป็น 2 เท่า)

– นอกจากนี้ความคาดหวังของผู้ปกครองก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ผู้ปกครองจะมองโรงเรียน คือการลงทุน การส่งลูกหลานไปเรียนหนังสือก็คือการลงทุนทางการศึกษารูปแบบหนึ่ง 

– ภารกิจของครูในปัจจุบัน คือ การพัฒนาความรู้สติปัญญาตนเองให้ทันต่อผู้เรียน การพัฒนาความรู้ของครูต้องก้าวหน้า และเร็วขึ้น เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของครู (Wisdom) ถ้าครูมีแต่ทรัพย์สินเดิม ก็จะมองอนาคตไม่ได้ จะมีความคิดที่ล้าหลัง ครูต้องมองไปในอนาคต (Foresight) การแสวงหาความรู้ด้วยการอ่านหนังสืออาจไม่ทันการณ์ จึงต้องอ่านจากบทความ แนวทาง แนวคิดต่าง ๆ ที่ทำให้มองเห็นข้อมูลต่าง ๆ เร็วขึ้น 

– ถ้าครูเข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ และปรับตัวให้ได้ ก็จะส่งผลให้ครูมีวิธีคิดแบบใหม่ ไม่ใช่วิธีคิดแบบเดิม จะทำให้พัฒนาต่อไปได้ เพราะปัจจุบันการศึกษามีกลไกต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น การปรับรูปแบบการเรียนการสอนแบบสายวิทย์-ภาษา การจัดการเรียนการสอนบัณฑิตศึกษาแบบ       สหสาขาวิชา เป็นต้น

ดังนั้นครูในศตวรรษที่ 21 ต้องมีวิธีคิดใหม่ ๆ ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทันเทคโนโลยี ทันต่อความคาดหวังของผู้ปกครอง มีความคิด สติ ปัญญา เฉลียวฉลาด หากครูเปลี่ยนวิธีคิดได้ ก็จะพัฒนาได้ ผลดีจะส่งถึงผู้เรียน แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดไม่ได้ ก็จะส่งผลให้ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง…..

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากวิทยากร ของ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ อีกหลายท่าน  ประกอบด้วย

  • รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี บรรยายหัวข้อ “บทบาทของครูชำนาญการพิเศษ”
  • ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและลูกค้าสัมพันธ์ บรรยายหัวข้อ “ความก้าวหน้าในวิชาชีพ”
  • รศ.ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษา บรรยายหัวข้อ “การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน”
  • ผศ.ดร.กนกกานต์ วีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดี บรรยายหัวข้อ “ผู้นำทางวิชาการ”

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว มีผู้อบรม จำนวน 55 คน และใช้เวลาอบรม ระหว่างวันที่ 14-17 กันยายน 2564   โดยมีทีมวิทยากรประจำกลุ่ม  ดูแลอย่างใกล้ชิด ตลอดการอบรม คือ ดร.สิทธิพร เอี่ยมเสน ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ  ผศ.ดร.วิชชา ฉิมพลี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  และ ดร.พันพัชร ปิ่นจินดา อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์

ข่าวโดย อ.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล