มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง ได้ดำเนินกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการศึกษาเรียนรู้ชุมชน ณ ชุมชนบ้านบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 18 – 20 สิงหาคม 2561 ซึ่งชุมชนที่ร่วมเดินทางเพื่อศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้คือ ชุมชนบ้านสันป่าเปา ตำบลสันต้นเปา อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนบ้านหนองดู่ ตำบลบ้านเรือน อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน โดยกำหนดการประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ได้แก่

          กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพการจัดการท่องเที่ยวชุมชน และการสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยว” ในวันที่ 18 สิงหาคม 2561 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ลำปาง โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนแต่ละชุมชนได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ความสำเร็จบนเวทีซึ่งกันและกัน

          กิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเรียนรู้ชุมชน ระหว่างวันที่ 19 – 20 สิงหาคม 2561 ณ ชุมชนบ้านบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา โดยได้รับเกียรติจาก นายบาล  บุญก้ำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านบัว ในการกล่าวต้อนรับคณะศึกษาดูงาน และบรรยายพร้อมรับชมวิดีทัศน์เกี่ยวกับบริบทชุมชนบ้านบัว การบริหารจัดการท่องเที่ยวชุมชน ระหว่างรับประทานอาหารร่วมกัน

          สำหรับกิจกรรมศึกษาดุงาน ณ ชุมชนบ้านบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา นั้น คณะศึกษาดูงานได้ร่วมในกิจกรรมฐานการเรียนรู้ต่างๆ ที่ทางชุมชนได้จัดเตรียมไว้ ได้แก่    

          1) ฐานการเรียนรู้การจักสานเข่ง เป็นผลิตภัณฑ์ของบ้านบัวและเป็นที่รู้จักในหมู่บ้านใกล้เคียง เดิมเป็นอาชีพเสริมในหมู่บ้านปัจจุบันมีการส่งออกจำหน่ายในหลายพื้นที่ กลายเป็นรายได้หลักในหลายครัวเรือน

          2) ฐานการเรียนรู้การสานสุ่มไก่จากไม้ไผ่ เป็นอาชีพหัตถกรรมอย่างหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่บ้านบัว เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นป่าและมีไม้ไผ่รวกอยู่เป็นจำนวนมาก ประชากรส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพจักสานอันเป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ

          3) ฐานการเรียนรู้การทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ โดยมีการนำไม้ไผ่ที่มีอยู่ในชุมชนมาแปรรูปเป็นเครื่องเรือนเช่น เก้าอี้ โต๊ะ แคร่ไม้ไผ่ รวมไปถึงนำมาทำเป็นซุ้มประตูสำหรับใช้ในเทศกาลยี่เป็ง

          4) ฐานการเรียนรู้พลังงานทดแทนเตาแกลบชีวมวล โดยเริ่มต้นมาจากการต้องการพลังงานทดแทน ที่สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน หันมาใช้วัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติอย่างแกลบที่ได้จากการสีข้าวในโรงสี นอกจากนี้ยังสามารถนำขี้แกลบที่เผาไหม้มาจำหน่ายเพื่อทำปุ๋ยได้อีกทางหนึ่ง

          5) ฐานการเรียนรู้การผลิตและแปรรูปข้าวอินทรีย์ เป็นข้าวที่ได้รับการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่มีการใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต ตลอดจนการเก็บรักษาโดยใช้วัสดุธรรมชาติที่ไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างในผลผลิต ดินและน้ำ เป็นต้น

          โดยคณะศึกษาดูงาน ได้รับองค์ความรู้ทั้งในด้านการบริหารจัดการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยวชุมชน โดยสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมและบรรลุวัตถุประสงค์ตามความต้องการในการพัฒนาของชุมชนที่ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้