รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึงโครงการ 85 ปี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กับการก่อเกิดโรงเรียนกฎหมายและการเมือง ว่า โรงเรียนกฎหมายและการเมือง (มสด.) เกิดขึ้นจากนโยบายของผู้บริหารเพื่อสร้างความเข้มแข็งของหลักสูตร โดยการรวมหลักสูตรที่มีพื้นฐานทางวิชาการใกล้เคียงกัน ได้แก่ หลักสูตรนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาการบริหารงานยุติธรรมและสังคม เข้าเป็นศักยภาพเดียวกัน เพื่อพัฒนาหลักสูตรแบบบูรณาการโดยมีกฎหมายมหาชนเป็นฐานในการจัดศึกษา และจัดตั้งเป็น “โรงเรียนกฎหมายและการเมือง” (School of Law and Politics) เน้นการสร้างความแตกต่างของหลักสูตร ด้วยการมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการองค์ความรู้ (Knowledge Management) และสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ให้มีลักษณะที่โดดเด่น และผลักดันให้เป็นอัตลักษณ์ที่ 5 ของมหาวิทยาลัยในอนาคต  และ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562  ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 85 โรงเรียนกฎหมายและการเมือง จึงตระหนังถึงความสำคัญ และถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้บุคลากร นักศึกษา ได้รู้จักรากฐานว่าโรงเรียนกฎหมายและการเมืองเติบโตมาอย่างไร

      รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร  กล่าวต่อว่า กิจกรรมสำคัญ หรือไฮไลท์ของงาน คือ การรับฟังปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ หลักคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลของนักกฎหมาย นักการเมือง กับการบริหารงานภาครัฐ โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จรัญ  ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และจัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ เงื่อนไขและข้อจำกัดทางกฎหมายและการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยมี ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  อดีตนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองศาสตราจารย์ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์  ประธานที่ปรึกษาอธิการบดี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ภารกิจข้างต้น จึงถือเป็นการเสริมสร้างทักษะ ความรู้ด้านกฎหมายและการเมืองให้แก่บุคลากร นักศึกษา เพื่อสร้างกระบวนความคิดแบบคุณธรรม นำกฎหมาย รู้จักปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหน้าที่ของตนอง กลายเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพของประเทศต่อไป  ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ (บัณฑิตวิทยาลัย)  มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562