มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และการไฟฟ้านครหลวง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีผู้บริหาร และบุคลากรจากสองหน่วยงานเข้าร่วมในพิธี ณ ห้อง Auditorium ชั้น 6 อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ คลองเตย วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2566

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคามีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน เรื่องการศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาออกแบบระบบพลังงานทดแทน และบริหารจัดการด้านพลังงานทดแทน รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างการไฟฟ้านครหลวง และ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในการดำเนินโครงการพัฒนาออกแบบระบบพลังงานทดแทน และบริหารจัดการด้านพลังงานทดแทน ให้มีประสิทธิภาพ และ
เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองฝ่าย

โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จะสร้างความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตร อบรมทักษะทางด้านสังคมหรือทักษะในการทำงานให้แก่บุคลากรของการไฟฟ้านครหลวง และสร้างความร่วมมือวิจัยและออกแบบ รองรับการเป็น Green University ต้นแบบ ด้านพลังงานอย่างยั่งยืน ด้านการไฟฟ้านครหลวง จะให้ความร่วมมือในการพัฒนาออกแบบระบบพลังงานทดแทน หรือระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเป็น Green University ให้ความร่วมมือในการพัฒนาและบริหารจัดการ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมพัฒนาด้านการศึกษาและศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์พลังงาน และให้ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยระบบการจัดการ EV Charging Station รวมถึงส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการใช้พลังงานกับบุคลากรภายในของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงทางวิชาการนี้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวง ในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop on Grid: Smart Government) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีในการลดการใช้พลังงานในหน่วยงานราชการลงร้อยละ 20 โดย MEA จะร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิตในการสำรวจ การออกแบบ การติดติดตั้ง การบำรุงรักษา จนเสร็จสิ้นโครงการ ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยสวนดุสิตให้การสนับสนุนในเชิงข้อมูลประกอบ เช่น ขนาดพื้นที่ ขนาดและรูปแบบของระบบไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยแต่ละอาคาร รวมถึงการประสานงานภายในและภายนอกองค์กร และร่วมกันออกแบบพัฒนาหลักสูตรด้านพลังงานทดแทน โดยการติดตั้ง Solar Rooftop on Grid ครอบคลุมทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ทั้งในกรุงเทพมหานคร วิทยาเขตสุพรรณบุรี ศูนยการศึกษาลำปาง นครนายก หัวหิน และตรัง ซึ่งนอกจากการใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือกอื่นแล้ว โครงการความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถช่วยให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิตลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดปัญหามลพิษจากการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่มีนโยบายมุ่งไปสู่ความเป็น Green University ภายใต้ทิศทางของมหาวิทยาลัย Small but Smart : จิ๋วแต่แจ๋ว และความร่วมมือนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และบุคคลภายนอก หากในอนาคต สามารถจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนด้านพลังงานทดแทนของแต่ละศูนย์การศึกษาของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตเพื่อไว้เป็นต้นแบบและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บริการวิชาการลงสู่ชุมชนท้องถิ่น นำไปสู่การพัฒนาประเทศด้านพลังงานอย่างยั่งยืน

ด้าน นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (MEA) กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบด้านระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านพลังงานหมุนเวียน โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาแนวทางการพัฒนาออกแบบระบบพลังงานทดแทน และบริหารจัดการด้านพลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองหน่วยงาน การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ยังครอบคลุมถึงการพัฒนาระบบพลังงานของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตให้เป็น Green University พัฒนาด้านการศึกษาและศูนย์การเรียนรู้การอนุรักษ์พลังงาน วิจัยระบบการจัดการ EV Charging Station ตลอดจนการส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการใช้พลังงานกับบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนด้านพลังงานทดแทนของ MEA ปัจจุบัน MEA มีการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Renewable Energy) เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายทางด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่ง MEA มีระบบบริหารจัดการพลังงานที่สามารถบริหารจัดการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถประหยัดค่าใช้จ่าย และยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาพรวมของประเทศสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป