มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษา ลำปางจัดกิจกรรม“คน ครั่ง คราฟต์” มหกรรมผ้าย้อมสีครั่งลำปาง ครั้งที่ 1 (ครั่งเฟส #1)  วันที่ 30 มีนาคม 2567

ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ประธานเปิด และ ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษา ลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวรายงานฯ พร้อมด้วย รศ.ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำปาง หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมฯ

ซึ่งภายในงาน ประกอบด้วย นิทรรศการ “ครั่งรักลำปาง” พร้อมรับชมผลิตภัณฑ์จากเครือข่าย 13 อำเภอ, นิทรรศการ “คน ครั่ง คราฟต์” ลำปางเมืองย้อมครั่ง กระบวนการสร้างแบรนด์อัตลักษณ์จากฐานงานวิจัยสู่แบรนอัตลักษณ์ใหม่ที่สำคัญ และเป็นหนึ่งใน Soft Power ด้านแฟชั่นของเมืองลำปาง

นอกจากนี้ ยังมีบูธแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครั่ง 13 อำเภอ และผลิตภัณฑ์จากสีครั่ง (ครั่ง คราฟต์ อาหาร) รวมไปถึง Business Matching ผ้าย้อมครั่งลำปาง ต่อยอดธุรกิจ สร้างคุณค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์ อีกทั้ง ยังมีการแสดงผลงาน “ครั่งช่วยช้าง” (การแสดงผลงานศิลปะสีครั่งจากน้องช้างและสนับสนุนผลงาน) และกิจกรรม WorkShop “คน ครั่ง คราฟต์” ลำปางเมืองย้อมครั่ง อาทิ DIY ของที่ระลึก, การปักผ้า  การย้อมผ้าและมัดย้อมสีธรรมชาติจากครั่ง

.         ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว เป็นกิจกรรมในโครงการวิจัย การจัดการความรู้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมสีครั่งเพื่อยกระดับรายได้สร้างความเข้มแข็งทางเศรษกิจฐานรากและการสร้างแบรนด์อัตลักษณ์ : ลำปางเมืองผ้าย้อมครั่ง ภายใต้ชุดโครงการวิจัย การบริหารจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมชุมชนและการพัฒนาย่านวัฒนธรรมชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยมี ดร.ขวัญนภา สุขคร เป็นหัวหน้าโครงการและทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ฯ ลำปาง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณี ฉายะบุตร อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย งบประมาณสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท.

ทั้งนี้ กิจกรรม“คน ครั่ง คราฟต์” มหกรรมผ้าย้อมสีครั่งลำปาง ครั้งที่ 1 (ครั่งเฟส #1) ถือเป็นการเปิดพื้นที่ 6 ย่านวัฒนธรรมเชื่อมโยงแหล่งผลิต 13 อำเภอ เพื่อส่งเสริมการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของผ้าย้อมครั่งที่ทุกคนให้ความสนใจ จัดแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครั่งจาก 13 อำเภอที่มีการพัฒนาและต่อยอดในหลากหลายรูปแบบ พร้อมทั้งสร้างพื้นที่เชิงธุรกิจในการเชื่อมโยงเครือข่ายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำของผ้าย้อมสีครั่งลำปาง เพื่อสร้างรายได้เชื่อมโยงการท่องเที่ยวยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่อย่างยั่งยืน