ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนแต่งตั้งให้มีและเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ ระยะที่ 97ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 26 มิถุนายน 2564
วันแรกของการอบรม ได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวเปิดการอบรมและบรรยายพิเศษ เรื่อง  “ศาสตร์และศิลป์แห่งความเป็นครู”  โดยสรุปความสำคัญได้ดังต่อไปนี้

ศาสตร์และศิลป์ของความเป็นครู หากพิจารณาในเชิงองค์ประกอบของความเป็นครู มีองค์ประกอบสำคัญ 2 ด้าน คือ
1.สิ่งที่มีอยู่ในตัวตน หรือ “วัตรปฏิบัติ” ซึ่งเกี่ยวพันกับจิตวิญญาณในความเป็นครู เป็นคุณลักษณะที่ดีที่ครูควรจะมี หากมีการปฏิบัติตามจรรยาบรรณ 9 ประการของครุสภาได้ครบถ้วน ก็จะเป็นผู้มีจิตวิญญาณความเป็นครู หรือในทางพุทธศาสนาหากมีพรหมวิหาร 4 ก็จะสร้างจิตวิญญาณความเป็นครูได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะมี คือ อุดมการณ์ความเป็นครู เป็นแนวทางในการทำงาน ดังนั้นการจะเกิดจิตวิญญาณความเป็นครูและอุดมการณ์ความเป็นครูได้ ต้องมีการประพฤติปฏิบัติสม่ำเสมอ เป็นวัตรปฏิบัติ ทำบ่อย ๆ จนเคยชิน เป็นตัวเรา และ

 2.สิ่งที่ต้องแสวงหาและพัฒนา (Teacher Professional Development) ประกอบด้วย ความรู้และเทคโนโลยี ครูต้องมีการพัฒนาความรู้ใหม่ ๆ ในวิชาที่จะสอน เรียนรู้ตลอดเวลา แล้วนำความรู้ใหม่ ๆ มาปรับใช้ครูต้องมีการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอนจะทำให้มีความเป็นวิชาการที่เข้มแข็ง เช่น เรื่องระบบ Fintech แท้จริงแล้วเด็กสามารถเรียนรู้และใช้งานได้ดี ครูอาจนำเรื่องนี้มาใช้ในการเรียนเรื่องการออม เป็นต้น  นอกจากนี้ควรมีการ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสม เราอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดไม่ถึง โควิด-19 ทำให้เกิดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ครูต้องคิดว่าเรียนออนไลน์อย่างไรจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด การเรียนผ่านโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวทำให้เรียนได้ไม่เต็มที่ เมื่อเรียนได้ไม่เต็มที่ครูจึงให้การบ้านเด็กจำนวนมาก ทำให้มีภาระงานมาก ครูจึงต้องพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ให้ดี เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง นำระบบอื่น ๆ มาปรับใช้ เช่น  smart classroom, smart teacher เป็นต้น

ดังนั้น “ศาสตร์” แห่งความเป็นครู คือ สิ่งที่ครูมีอยู่ในตัวตน เป็นวัตรปฏิบัติ ประกอบด้วย จิตวิญญาณและอุดมการณ์ ส่วน “ศิลป์” แห่งความเป็นครู คือสิ่งที่ครูต้องแสวงหาและพัฒนา ประกอบด้วย ความรู้และการพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสม รวมถึงเทคนิควิธีการต่าง ๆ

มีพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ครูอาวุโส เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2521 ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นครูความตอนหนึ่งว่า

“ถ้าครูไม่ห่วงประโยชน์ที่ควรจะห่วง หันไปห่วงอำนาจ ห่วงตำแหน่ง ห่วงสิทธิ และห่วงรายได้กันมากเข้า แล้วจะเอาจิตใจที่ไหนมาห่วงความรู้ ความดี ความเจริญงอกงามของเด็ก ความห่วงใยในสิ่งเหล่านี้ ก็จะค่อยๆ   บั่นทอนทำลายความเป็นครูไปจนหมดสิ้น จะไม่มีอะไรเหลือไว้พอที่ตัวเองจะภาคภูมิใจ หรือผูกใจใครไว้ได้ ความเป็นครูก็จะไม่มีค่าเหลืออยู่ให้เป็นที่เคารพบูชาต่อไป”

ครูรุ่นใหม่หรือครูในยุคสมัยใหม่ จึงไม่ใช่ครูที่ทำงานสบาย ต้องพัฒนาตนเองมากขึ้น การเป็นครูเชี่ยวชาญ จึงต้องเป็นครูที่มีความรู้ลึกซึ้ง ไม่ใช่ครูที่มีตำแหน่งเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว

และยังได้รับเกียรติจากวิทยากรมากความรู้และประสบการณ์อีกหลายท่าน ประกอบด้วย

ดร.สิทธิพร เอี่ยมเสน ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ม.สวนดุสิต บรรยายหัวข้อ “จิตวิญญาณของความเป็นครู”

นายกมล ศิริบรรณ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายหัวข้อ “คุณธรรมและจรรยาธรรมความเป็นครู”

ผศ.ดร.ผดุง พรมมูล ที่ปรึกษาอธิการบดี ม.สวนดุสิต บรรยายหัวข้อ  “การสร้างเครือข่ายทางวิชาการ”

โดยมีผู้เข้าอบรมจำนวน 25 คน ใช้รูปแบบการอบรม Online ผ่านระบบZOOM มีการบรรยาย และซักถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง  แบบสองทางกับวิทยากร  ณ ศาลาชื่นอารมณ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต